Welcome to my blogspot

ดาวน์โหลดบทความใหม่ (dwnld)...ร.๕ กับการเสด็จประพาสประเทศอินเดีย...ขอขอบคุณบทความดีๆที่มีให้เราๆได้อ่าน เสริมปัญญา เป็นอาหารสมอง และให้ความรู้ที่ดีที่สุด­เพราะกลั่นมาจากปัญญาแท้ๆ wel 2013 come / Happy new year

หยิบข่าวมาบอก:Breaking News

r

28 กุมภาพันธ์ 2552

ตรวจสุขภาพ.....เพื่ออะไร? ตอนที่ 1


โดย..ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุษณี ศุภวรรธนะกุล
อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการจัดการสุขภาพและสุขศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

การตรวจสุขภาพวัตถุประสงค์เพื่อ การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอันจะส่งผลทำให้สุขภาพเสียไป ซึ่งเกิดจากความไม่ตระหนัก ความไม่ทราบ ไม่ยอมรับทราบและไม่ยอมปฏิบัติทั้งๆที่ทราบแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพ จึงเน้นที่การตรวจก่อนการเป็นโรค เพื่อจะได้ทราบปัจจัยเสี่ยงและแก้ปัจจัยเสี่ยงก่อนที่จะเป็นโรครุนแรง คำว่าตรวจสุขภาพ หลายๆ คนต้องคิดว่าเป็นการไปโรงพยาบาลและให้แพทย์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตรวจร่างกายของเรา แต่สิ่งที่ท่านคิดหรือปฏิบัติอยู่เป็นเพียงบางขั้นตอนของการตรวจสุขภาพเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะประกอบไปด้วย การตรวจสุขภาพด้วยตนเอง การตรวจสุขภาพโดยแพทย์และการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจสุขภาพด้วยตนเองเป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะ เป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะสนับสนุนให้บุคคลมีสุขภาพดี เนื่องจากจะเห็นว่าสุขภาพเป็นสภาวะของร่างกายที่ไม่หยุดนิ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สลับไปมาระหว่างการมีสุขภาพดีและไม่ดี ประกอบกับการมีวิถีชีวิตแบบใหม่ตามวัฒนธรรมต่างชาติ การมีพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภค การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ การทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด การทำงานล่วงเวลาเพื่อความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเผชิญสถานการณ์ที่คับขัน และเคร่งเครียด ซึ่ง ล้วนเป็นปัจจัยในการ บั่นทอนระบบการทำงานของร่างกายให้ผิดปกติไปจากเดิมได้ทั้งสิ้น การตรวจหาความผิดปกติของร่างกายควรตรวจอวัยวะของร่างกายว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่และการตรวจสภาพการทำงานของร่างกายเป็นการตรวจสภาพการทำงานของร่างกาย เพื่อนำผลไปประกอบการประเมินสุขภาพของตนเองได้เช่นการรับประทานอาหาร การหายใจ ระดับอุณหภูมิของร่างกาย การปวดตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย การขับถ่ายปัสสาวะ ให้สังเกตความบ่อยในการปัสสาวะ สีของปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ ให้สังเกต สี กลิ่นที่เหม็นผิดปกติ จากการสังเกตอวัยวะและสภาพการทำงานของร่างกายแล้ว ถ้าพบสิ่งผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้เหมาะสม แต่ถ้าแพทย์สงสัยความผิดปกติดังกล่าวอาจจำเป็นต้องตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องอีกครั้ง ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสุขภาพโดยแพทย์ เป็นการตรวจขั้นที่ 2 ต่อเนื่องจากการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง แล้วพบว่ามีสิ่งผิดปกติหรือสงสัยว่าผิดปกติ จึงไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยวิธีการสังเกต สัมผัส การใช้เครื่องมือแพทย์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อนำผลมาประกอบการวินิจฉัย และยืนยันความผิดปกติดังกล่าว การตรวจสุขภาพโดยแพทย์เป็นการตรวจเพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่างคือประการแรกเป็น การตรวจเพื่อคัดกรองโรค และการตรวจเพื่อยืนยันความผิดปกติ โดยแพทย์จะซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต วัดชีพจร ซักถามถึงวิถีชีวิต ลักษณะอาชีพ พฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือแม้แต่ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลใกล้ชิด ได้แก่ บิดา มารดา เพื่อต้องการทราบและคัดกรองโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว การลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรค ในขั้นตอนนี้เราจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นความจริงและละเอียดพอที่จะให้แพทย์วินิจฉัย เพราะแพทย์จะรักษาเราตามอาการ หลังจากนั้น แพทย์จะนัดและติดตามพฤติกรรม การปฏิบัติตน เป็นระยะๆ หากอาการผิดปกติไม่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากพฤติกรรมเสี่ยงไม่เปลี่ยน แพทย์อาจจำเป็นต้องให้รับประทานยาเพื่อป้องกันการเป็นโรค แพทย์อีกจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญของการตรวจในขั้นตอนนี้ แต่เน้นเฉพาะการรักษาเพียงด้านเดียวทั้ง ๆ ที่แพทย์เป็นบุคลากรที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไข้ได้ดีกว่าบุคคลอื่น ประการที่ 2 เป็น การตรวจเพื่อยืนยันความผิดปกติ จะทำต่อจากขั้นตอนแรก ภายหลังจากแพทย์เคยแนะนำในขั้นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคไปแล้ว แต่อาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะสั่งให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยและยืนยันอาการผิดปกติดังกล่าว พร้อมเริ่มรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งผ่านขั้นตอนการตรวจสุขภาพโดยแพทย์แล้ว และแพทย์เป็นผู้กำหนดรายการตรวจ โดยใช้ใบรายการขอตรวจของสถานพยาบาลนั้น ๆ เพื่อต้องการนำผลการตรวจมาวินิจฉัยประกอบการรักษา ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการมี 3 ประเภทใหญ่ ๆ และเป็นการตรวจเพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายที่แตกต่างกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้. (มีต่อตอนที่ 2)