Welcome to my blogspot

ดาวน์โหลดบทความใหม่ (dwnld)...ร.๕ กับการเสด็จประพาสประเทศอินเดีย...ขอขอบคุณบทความดีๆที่มีให้เราๆได้อ่าน เสริมปัญญา เป็นอาหารสมอง และให้ความรู้ที่ดีที่สุด­เพราะกลั่นมาจากปัญญาแท้ๆ wel 2013 come / Happy new year

หยิบข่าวมาบอก:Breaking News

r

08 มกราคม 2552

วิจัยชีวิต ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

บทความทางวิชาการ โดยพิษณุ แก้วนัยจิตร
นิสิตปริญญาเอก สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก


ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมชนตามความหมายเดิมของไทยที่อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือเอื้ออาทร รักสามัคคีกัน เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการแพร่กระจายค่านิยมของมนุษย์ในสังคมโลก เฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมที่แพร่จากสังคมประเทศตะวันตก เช่น แฟชั่น การแต่งกาย การใช้สินค้าและบริการที่ทันสมัยต่างๆ เป็นต้น นอกจากเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยอาศัยการสื่อสารทางเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ยังมีระบบตลาด ระบบขนถ่ายสินค้า พร้อมทั้งหน่วยบริการธุรกิจสมัยใหม่ อาทิ บริการเงินด่วนทันใจ ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่รองรับที่ปลายทาง สะดวกและสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้โดยง่าย เกิดการไหลบ่าทางวัฒนธรรมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมเดิมของชุมชน สุดท้ายชุมชนหรือสังคม ก็จะถูกครอบงำโดยค่านิยมภายนอกอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างที่โดดเด่นของปัจเจกบุคคลที่พบทั่วไปคือ การเป็นนักบริโภคนิยม ที่รับแบบไม่แยกแยะและเลือกสรรว่าสิ่งใดดี สิ่งใดเหมาะสมกับบริบทของตน แต่จะทำทุกวิถีทางเพื่อไขว่คว้าในการที่จะเป็นผู้สามารถสร้างอำนาจในการซื้อของตนให้สูงขึ้น สูงขึ้น ไปเรื่อยๆ ไม่มีคำว่า “พอเพียง” หรือ “เพียงพอ” ปรากฏการณ์ที่มีแนวคิดการพัฒนากระแสหลักเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยและหยั่งรากฝังลึกลงในจิตสำนึก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างแล้ว ยังเกิดผลในทางเศรษฐกิจที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ การเอารัดเอาเปรียบกันในลักษณะ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เห็นเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ คุณธรรม จริยธรรม เริ่มเจือจางลดน้อยถอยลงและอาจเลือนหายไปในเวลาอันใกล้ ถ้าหากขาดระบบถ่วงดุลที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมที่รุนแรงในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดดำแห่งมนต์อำนาจโลกาภิวัฒน์ ก็ยังมีแสงสว่างเล็กๆ ที่พร้อมจะปะทุเจิดจรัสขึ้นมาภายในประเทศ ด้วยพระบุญญาบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลานานและต่อเนื่องกว่า สามสิบปี แล้ว (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, ๒๕๔๗) โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ผู้บริหารประเทศและ ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (๒๕๔๖)ได้ประมวลพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงไว้ ตามลำดับดังนี้

๑. “ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานคือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคง

พอ ควรแล้ว..... การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเองย่อมสามารถสร้างความเจริญ ก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอนส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความ เจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันการผิดพลาดล้มเหลว”

พระบรมราโชวาท เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

๒. “....ให้เมืองไทยอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักความพออยู่พอกินนี้ได้เราก็จะยอดยิ่งยวด......”

พระราชดำรัส เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗

๓. “การเป็นเสือไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเองจะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร .....ทำโครงการอะไรก็จะต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่า อัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป”

พระราชดำรัส เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

๔. “....ให้พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ”

พระราชดำรัส เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

๕. “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั้นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

พระราชดำรัส จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒

๖. “พอมีพอกินได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีแล้ว ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ self-sufficiency คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้”
พระราชดำรัส เมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

๗. “....ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า SUFFICIENCY ECONOMY ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี SUFFICIENCY ECONOMY แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ หมายความว่า ประหยัดแต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง”

พระราชดำรัส เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓

จาก พระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ต่อมา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง (๒๕๔๗) ได้รวบรวมนำเสนอเป็นหลักการในลักษณะของสามห่วง สองเงื่อนไข ที่ว่าสามห่วง คือ ๑.) ความพอประมาณ หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น ๒.) ความมีเหตุมีผล หมายถึง การที่บุคคลได้พิจารณาอย่างรอบคอบด้วยวิธีต่างๆในการที่จะยอมเชื่อถือว่าข้อ สนเทศใดเป็นความจริงเกี่ยวกับสาเหตุและผลที่จะนำไปสู่ความพอเพียงและ ๓.) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง ความสามารถที่จะปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับผลกระทบทั้งดีและไม่ดีในอนาคตทั้งใกล้และไกล ตลอดจนมีความคิดและวิจารณญาณในการตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธการชักจูงหรือการ บีบบังคับจากฝ่ายต่างๆ สำหรับสองเงื่อนไข ที่จะทำให้เกิดความพอเพียงได้คือ ๑.) เงื่อนไขความรู้ คือ ต้องเป็นผู้มีความรู้ในหลักวิชารอบด้าน มีความรอบคอบในการตัดสินใจและมีความระมัดระวังในการดำเนินการปฏิบัติและ ๒.) เงื่อนไขคุณธรรม คือ มีคุณธรรม จริยธรรมควบคู่ในการตัดสินใจกระทำ ตลอดจนมีความขยัน อดทน และใช้สติปัญญา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เปรียบประดุจการค้นคว้า หาความรู้ ความจริงของชีวิต อย่างเป็นระบบมีเหตุมีผลเชื่อถือได้ ดังที่ผู้เขียนให้ทรรศนะว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ “วิจัยชีวิต” นั่นเอง และการให้ความหมายโดยนัย เช่นนี้ก็มิได้เกินความเป็นจริงที่จะสามารถนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปนามธรรมแต่อย่างใด

โดย เฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนและครอบครัวที่มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและมี ความภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงยิ่งที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบารมีเบื้องพระ ยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้สามารถยืนหยัดสู้ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ดังที่ผู้เขียนให้สัญญาสร้างสรรค์ความดีถวายแด่ในหลวง ไว้ว่า “ปฏิบัติราชการด้วยความมุ่งมั่น ขยันอดทน ซื่อสัตย์สุจริต” และจากประสบการณ์ในการ “วิจัยชีวิต” สิบแปดปีที่ผ่านมาที่ผู้เขียนและครอบครัวยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกนึกดีปฏิบัติต่อบุพการีด้วยการกตัญญูกตเวทิตา ดูแลเมื่อยามเจ็บป่วย ช่วยค่าใช้จ่ายประจำเดือนแก่ท่าน มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนเปรียบเทียบรายได้กับรายการจ่ายในแต่ละวันและสรุปเป็นรายเดือน นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาภายในครอบครัวและหาข้อสรุปในการใช้จ่ายร่วมกันในเดือนถัดไป ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ฯลฯ ทำอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำให้สามารถดูแลความสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่ายได้เป็นอย่างดีสร้างชีวิตส่วนตนและครอบครัวให้มีความสุขได้ตามอัตภาพด้วยดี

เสมอมา แม้การปฏิบัติข้างต้นผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่สำหรับผู้เขียนและครอบครัวแล้ว ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและเชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนขยายผลสู่ญาติสนิท มิตรสหายในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสต่อไป



กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นปรัชญาที่ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชน

ทุกคน ทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา) มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล รวมถึงจะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีพอสมควรเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอก ดังนั้นเพื่อเรียกความเป็น “ไท” กลับมาอย่างเต็มภาคภูมิจึงควรเริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ให้เป็นภูมิคุ้มกันกระแสโลกาภิวัฒน์ในลักษณะกระแสหลัก และร่วมแรงร่วมใจกันผลักกระแสรองอย่าง เศรษฐกิจพอเพียง ให้กระจายลึกลงไปในจิตสำนึกของปวงชนชาวไทยทุกคน มีความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าสะสมให้เป็นองค์ความรู้ใหม่หรือวิจัยชีวิต ด้วยการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและระเบิดศักยภาพภายในตัวออกมาให้ปรากฏอย่างพร้อมเพรียง เมื่อนั้นกระแสรองอาจผันตัวเป็นกระแสหลัก และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนมั่นใจและเชื่อมั่นว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็น
กลไกสำคัญในการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน จากนั้นจึงขยายผลของการพัฒนาสู่ความเข้มแข็งของชุมชน สังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติโดยรวมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป.
...............................................................................

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล